ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งทอร่วมกับสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สพว.) ISMED ได้จัดอบรมโครงการบริการวิชาการให้กับภาคอุตสาหกรรมในหัวข้อ “การสร้างมูลค่าเพิ่มโดยการประยุกต์ใช้สารเปลี่ยนสีบนผลิตภัณฑ์”
พฤศจิกายน 1, 2023นวัตกรรมเครื่องลดความชื้นเมล็ดข้าวเปลือกสำหรับเกษตรกร
พฤศจิกายน 3, 2023สำเร็จ!! ต้นแบบ “โรงเรือนปลูกข้าวอัจฉริยะแบบลอยน้ำ”
ฝีมือ กลุ่มนศ.วิศวกรรมเกษตรอุตสาหกรรม มทร.ธัญบุรี
กลุ่มนศ.วิศวกรรมเกษตรอุตสาหกรรม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี(มทร.ธัญบุรี) 14 คน ร่วมกันนำเสนอโครงงานขนาดเล็ก (Mini Project) ผลงาน “โรงเรือนปลูกข้าวอัจฉริยะแบบลอยน้ำ” โดยเน้นควบคุมระบบให้น้ำอัตโนมัติ อัตราการเจริญเติบโตแต่ละช่วงอุณภูมิและความชื้น เพื่อออกแบบโรงเรือนแบบลอยน้ำ พัฒนาวิธีการปลูกข้าวที่ประหยัดแรงงาน เพิ่มมูลค่าการใช้ประโยชน์จากพื้นที่เหนือแหล่งน้ำให้สูงขึ้น ผลงานของนักศึกษาชั้นปีที่ 3 นำโดยนายภัทรดิษฐ์ สุทธิทรัพย์, นายฐาปกรณ์ เสร็จกิจ, น.ส.พรนภัส ชำนาญไพร, นายพีรพล พึ่งทวี, นายจักกฤษ มั่งมี, นายวิสิฐพงษ์ ไชยฟู, น.ส.อารีญา ทนช่างยา, นายณัฐกานต์ เอี่ยมบรรจง, นายจักรพันธ์ รัตนพันธ์, นายนันทิพัฒน์ วงปัตตา, น.ส.ยศวดี ศรีคง, น.ส.ณิชาภัทร บัวสำลี, น.ส.หทัยภัทร หนูสี และน.ส.อัณณ์ญาดา กมลโรจน์ธนากุล ซึ่งมี รศ.ดร.เกรียงไกร แซมสีม่วง และดร.วิพุธ ตุวยานนท์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา
ตัวแทนกลุ่ม “ทิม”- ภัทรดิษฐ์ สุทธิทรัพย์ เล่าว่า โครงการนี้เป็นจุดเริ่มต้นอย่างหนึ่งที่เสริมสร้างและสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ ผ่านการลงมือปฏิบัติเพื่อสร้างสิ่งประดิษฐ์นวัตกรรม ที่เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชาในชั้นปีที่ 3 ซึ่งให้กลุ่มนักศึกษาร่วมกันทำโครงงานขนาดเล็ก อีกทั้งสามารถต่อยอด ดัดแปลง หรือนำวัสดุชิ้นส่วนของโครงงานเดิมมาต่อยอด เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายลงได้ โดยในกลุ่มลงความเห็นและร่วมกันสรุปในภาพรวมว่า เราอยู่ในที่ตั้งของจังหวัดปทุมธานี ซึ่งมีการทำนาปลูกข้าวมากมาย แต่ปัจจุบันเกษตรกรทั้งรายใหญ่และรายย่อยต่างประสบปัญหาหลายด้าน เช่น การเพาะปลูก เทคโนโลยี ความคุ้มค่า รวมถึงการตลาด จึงอยากออกแบบและสร้างต้นแบบโรงเรือนปลูกข้าวอัจฉริยะแบบลอยน้ำที่มีฟังก์ชันการทำงานที่หลากหลาย เพื่อประหยัดแรงงานคน และให้ผลผลิตที่ดี มีคุณภาพ โดยรีโนเวทจากโรงเรือนเพาะเห็ดเดิมของรุ่นพี่ ที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว
ขณะที่ “คิม”- ฐาปกรณ์ เสร็จกิจ เผยว่า โรงเรือนปลูกข้าวอัจฉริยะแบบลอยน้ำนั้น จะมีฟังก์ชันการทำงานที่น่าสนใจ เป็นประโยชน์ที่สอดรับเกษตรกรที่ปลูกข้าว และสอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน เป็นโรงเรือนที่ลอยน้ำได้ตามระดับน้ำ เพื่อลดและประหยัดพื้นที่ในการเพาะปลูก ตัวโรงเรือนโดยรอบมุงด้วยตาข่าย ที่จะช่วยระบายอากาศได้ดี สอดรับกับสภาพอากาศของประเทศไทย อีกจุดเด่นของโรงเรือนก็คือ สามารถตั้งเวลาในการรดน้ำได้ วัดอุณหภูมิความชื้นในดินที่เพาะปลูก วัดอุณหภูมิของต้นข้าว และอุณหภูมิโดยรวมของเรือนได้ผ่านจอแสดงผล ขณะเดียวกันยังติดไฟส่องสว่างร่วมด้วย ซึ่งมีโซล่าเซลล์กักเก็บพลังงาน ซึ่งจะทำให้สามารถติดตาม ควบคุม และคาดการณ์ผลผลิตได้แม่นยำยิ่งขึ้น รวมถึงมีความคุ้มค่าในระยะยาวต่อการเพาะปลูก
คิมยังบอกอีกด้วยว่า “โรงเรือนปลูกข้าวอัจฉริยะแบบลอยน้ำนี้ หากนำไปพัฒนาต่อยอด ทั้งเชิงพาณิชย์และเชิงอุตสาหกรรม เชื่อว่าจะส่งผลดีต่อเกษตรกรผู้ปลูกข้าว เนื่องจากเป็นการทำเกษตรแบบแม่นยำ”
ที่มา กองประชาสัมพันธ์ มทร.ธัญบุรี